นายพงศ์เทพ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยได้รับสัญญาณที่ไม่สู้ดีมาสิบกว่าปีแล้ว หรือประมาณช่วงหลังจากเกิดวิกฤตซับไพร์มของอเมริกา โดยมีตัวเลขปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศจีนอย่างก้าวกระโดด จากปีละประมาณ 1 ล้านตัน เป็นปีละประมาณ 3 ล้านตัน เพียงแต่ในช่วงนั้นกลุ่มผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในประเทศ ทั้งเหล็กทรงยาว ทรงแบน รูปพรรณ ได้รับอานิสงส์จากมาตรการทางการค้าของรัฐบาลเช่น Safeguard A/D ซึ่งตอนนั้นผู้ผลิตจีนและผู้นำเข้ายังหาช่องทางพิเศษในการหลบเลี่ยงมาตรการไม่เจอ
ต่อมาเมื่อผู้ผลิตจีนและผู้นำเข้าพบช่องทางแล้ว แม้รัฐบาลจะมีการใช้มาตรการกับสินค้าเหล็กจำนวนมากแต่ก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไร เห็นได้จากปริมาณนำเข้าเหล็กจากจีนยังเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยปี 2566 สูงถึง 4.7 ล้านตัน และคาดปี 2567 คงไม่ตํ่ากว่า 5 ล้านตัน จากมาตรการที่ใช้เปิดช่องว่างไม่ว่าจะเป็นการไม่ครอบคลุมสินค้าเหล็กทดแทนกันได้ในพิกัดศุลกากรอื่น รวมถึงการใช้มาตรการอย่างไม่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานระหว่างสินค้าต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า ยิ่งทำให้การใช้มาตรการไม่ได้ผล
ยังไม่รวมผู้ผลิตจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กทรงยาวและทรงแบนในไทย ที่จะค่อยๆ กินส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 2 ล้านตันไปถึง 6 ล้านตันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เมื่อรวมกับผู้นำเข้าจากญี่ปุ่น 4-5 ล้านตันต่อปี กับผู้นำเข้าจากเกาหลีใต้อีก 1- 2 ล้านตันต่อปี
“นั่นหมายความว่า หากปริมาณการบริโภคเหล็กในไทยอยู่ที่ปีละ 17-18 ล้านตัน (ภายใต้การคาดการณ์ว่า ภาคอสังหา ริมทรัพย์ทั้งไทยและจีนยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวคงต้องใช้เวลาอีกนานเพราะมีซัพพลายส่วนเกินมาก) ผู้ผลิตเหล็กไทยจะเหลือพื้นที่ให้ผลิตนับจากนี้ไปได้เพียงปีละไม่เกิน 4 ล้านตันและจะถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดเหล็กของคนไทยคงต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงทางซัพพลายเชนที่จะถูกกำหนดโดยผู้ผลิตจีน”
นายพงศ์เทพ ให้ความเห็นอีกว่า หากเทียบภัยคุกคามที่อุตสาหกรรมเหล็กเผชิญอยู่เป็น “ระเบิด” คงต้องบอกว่าที่ผ่านมามีระเบิดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งผู้ผลิตในประเทศก็เป็นคนทำระเบิดลั่นใส่อุตสาหกรรมตัวเอง ทั้งนี้หากให้ประเมินว่ามีกี่ลูกที่จ่อถล่มอีกในปี2568 ขอแบ่งเป็น 2 ลูกใหญ่คือ
1.ลูกระเบิดในประเทศ ปี 2568 นํ้าหนักและแรงทำลายล้างใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตจีนรายใหญ่เดิมที่ตั้งโรงงานในไทยอยู่แล้ว รุกคืบเข้ามาผลิตเหล็กทรงแบนกำลังผลิต 6 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่เหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแปรรูปต่อเนื่อง เช่น ท่อ การ์ดทาง เสาไฟ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2568 เหตุผลที่บอกว่าแรงทำลายล้างสูงเนื่องจากผลจากผู้ผลิตจีนรายนี้ที่สร้างผลงานในเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้นไว้โดยขึ้นมากินส่วนแบ่งการตลาดในระดับท็อปใช้เวลาน้อยมาก ส่งผลผู้ประกอบการรายเดิมต้องปิดโรงงานไปในที่สุด
ส่วนระเบิดอีกลูกคือ จากจีน ที่แม้ว่าจะเข้ามาแล้ว แต่ดีกรีความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เข้ามาเป็นผู้ผลิตรายเล็ก แต่ปีนี้ต่อเนื่องไปปีหน้าจะเห็นภาพชัดว่าผู้ผลิตรายกลางและรายใหญ่จากจีนจะทยอยเข้ามาเป็นผู้เล่นในไทยเองโดยไม่ผ่านตัวแทน บางคนอาจคิดว่าทำไมผู้ผลิตไทยไม่เอาผู้ผลิตจีนมาเป็นพวก ต้องบอกว่าความเชื่อแบบนั้นใช้ไม่ได้กับอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากผู้ผลิตไทยไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ต่อให้ปรับตัวด้านเทคโนโลยีแบบเดียวกันแล้ว แต่ต้นทุนก็ยังคงสู้กันไม่ได้
“ฉะนั้นหลังจากที่ชิมลางให้คนไทยหรือคนจีนรายย่อยถางหญ้าปูทางการตลาดเสร็จได้ข้อมูลครบด้าน จึงถึงเวลาที่เขาจะลุยเองแล้ว ส่วนการบังคับใช้กฎหมายขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ผลิตไทยคงไปแทรกแซงไม่ได้ อานุภาพความรุนแรงของระเบิดลูกนี้ไร้ขีดจำกัด เพราะมีเงาของรัฐบาลจีนพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ของจีนหลายรายมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ”
เมื่อถามว่าสถานะอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศปีหน้าจะเป็นไปตาม 3 แบบต่อไปนี้หรือไม่ คือ 1.ถอดใจเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาเทคโอเวอร์ 2.เหล็กในประเทศขายไม่ออกต้องประกาศหยุดผลิตชั่วคราวต้องลดแรงงานหรือต้นทุนอย่างสุดโต่ง หรือ 3.เลิกผลิตหันไปจับมือกับทุนจีนเปลี่ยนสถานะเป็นผู้นำเข้าแทนเพราะผลิตไปก็แข่งขันไม่ได้ กรณีนี้นายพงศ์เทพกล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศหลายแห่งก็ใช้ทั้ง 3 รูปแบบอยู่แล้วเพื่อความอยู่รอด และเคยถูกใช้มาแล้วในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพียงแต่ปัจจัยหลาย ๆ ด้านไม่เหมือนกัน เช่นช่วงต้มยำกุ้ง ไม่มีเรื่องการดัมพ์สินค้าราคาถูกเข้ามาเหมือนปัจจุบัน รวมถึงกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กจีนก็ไม่ได้มากเหมือนทุกวันนี้ ที่สูงถึงระดับ 1,000 ล้านตันต่อปี
นายพงศ์เทพ อธิบายต่อว่า จากที่จีนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ยอมลดกำลังการ และเพิ่มการส่งออก ความรุนแรงของปัญหาจึงเพิ่มเป็นทวีคูณเข้าลักษณะภัยคุกคามภายใต้กฏระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งประเทศที่เข้าใจและรับมือได้ทันก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่ของไทยตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่าเป็นภัยคุกคาม หรือเข้าใจแต่ไม่กล้าใช้มาตรการและปรับวิธีการเหมือนประเทศอื่นก็คงจะอยู่ไม่ได้
ดังนั้นอุตสาหกรรมในประเทศขอเน้นย้ำว่า ที่จำเป็นต้องขอใช้มาตรการเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องการค้าที่เสรี แต่เป็นเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมผิดระเบียบการค้าโลกของ WTO ถ้าค้าเสรีจริง ไม่ได้ผิดกฎ WTO อุตสาหกรรมภายในก็คงไม่สามารถไปเรียกร้องให้ใช้มาตรการได้แต่อย่างใด